นามเมือง
เมืองน่าน มีที่มาของชื่อปรากฏในตำนานพระอัมภาคว่า “นันทสุวรรณนคร” ส่วนในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกเมืองน่านว่า “กาวราชนคร” นัยว่าเป็นแค้วนของกาว อันหมายถึง ชนชาติที่อาศัยอยู่ในแค้วนน่านแต่ดึกดำบรรพ์ และในตำนานเก่าๆ เรียกเมืองน่านอีกคำหนึ่งว่า “กาวน่าน” ต่อมามีการเรียกชื่อเมืองน่านว่า “นันทบุรี” หรือ “นันทบุรีศรีนครน่าน” เข้าใจว่า เป็นยุคสมัยที่พระพุทธศาสนา และภาษาบาลีเฟื่องฟูในล้านนา ที่มาของชื่อเมืองน่าน มาจากชื่อแม่น้ำน่าน อันเป็นที่ตั้ง ของเมืองที่อยู่บนสองฟากฝั่งแม่น้ำน่าน ชื่อของเมืองน่าน ได้ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า เมืองน่าน คือ ตั้งแต่แรกตั้งเมืองใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน
เมืองน่าน แม้จะมีการเรียกชื่อใหม่ว่า “นันทบุรี” หรือ“นันทบุรีศรีนครน่าน” ซึ่งใช้กันในทางราชการในสมัยโบราณและศุภอักษรนามนันทบุรี เป็นนามที่ไฟเราะ และมีความหมายมงคลนาม แต่ก็มีหลายพยางค์และเรียกยาก จึงกลับมานิยมเรียก นามเมืองตามเดิมว่า “เมืองน่าน” ตลอดจนถึงปัจจุบัน
ตราเมือง
ในอดีต ตราเมืองทำด้วยงาช้างกลึงทรงกรวยกระบอก หัวเม็ดบริเวณหน้าสัมผัสที่ใช้กดประทับ และสลักเป็นรูปทรงกลม ภายในมีลวดลายสลัก เป็นรูปโคอุศุภราชล้อมรอบด้วยลายช่อกนกประกอบพื้นช่องไฟ ดวงตรานี้เจ้าผู้ครองนครน่าน ทรงใช้เป็นตราเมืองสำหรับประทับในหนังสือ กราบบังคมมทูลถวายรายงานข้อราชการแก่พระมหากษัตริย์ในกรุงรัตนโกสินทร์ และประทับในหนังสือราชการงานเมืองต่าง ๆ
ตราเมืองในอดีต
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2481 เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการริเริ่มออกแบบ ดวงตราประจำจังหวัด โดยให้ยึดหลักองค์ประกอบอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด เช่น ปูชนียวัตุถหรือปูชนียสถานที่สำคัญ ที่ประชาชนในจังหวัดให้ความเคารพ กราบไหว้บูชา
ตราเมืองในปัจจุบัน
ดวงตราแบบใหม่นี้ น่าน ยังคงไว้ซึ่งสัญลักษณ์และความหมายของตราเมืองที่เคยใช้อยู่เดิม ได้ปรับปรุงโดยเปลี่ยน รูปโคอุศุภราชเสียใหม่ ให้แลดูสง่างามและเพิ่มพระบรมธาตุเจดีย์ อันเป็นปูชนียสถานเก่าแก่ที่สำคัญ และเป็นศูนย์รวมจิตใจ คู่บ้านคู่เมืองของน่านคือ เจดีย์พระธาตุแช่แห้ง และปรับปรุงลายชอกนกประกอบพื้นช่องไฟให้แลดูเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ส่วนการให้สี กำหนดใช้ตามความเหมาะสมสวยงามทางด้านศิลปะ
คำขวัญ
แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง